มหาสติปัฏฐาน ๔
พระธรรมเทศนา
ประวัติ พระครูภาวณานุศาสก์
เครือข่ายวัดชายนา
ประวัติวัดชายนา
วัดชายนาได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพิจารณาจากถาวรวัตถุอันสำคัญคือ โบสถ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นโบสถ์ยุคแรกทางพระพุทธศาสนาที่นิยมทำขนาดความยาวไม่เกิน ๗ ก้าว กว้างพอจุพระครบองค์ สังฆกรรมตามบัญญัติในพุทธศาสนาได้เท่านั้น มีประตูเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ไม่มีหน้าต่างแต่มีช่องหรือรูระบายอากาศที่ฝาผนัง ผนังด้านหลังพระพุทธรูป เสาติดผนังและผนังด้านข้างมีร่องรอยภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมาก จากหลักฐานดังกล่าวนี้พร้อมด้วยกระเบื้องหลังคาเก่าที่ฝังจมดิน ทรงหลังคา ภาพเขียนสี พระประธาน และประณีตศิลป์ที่ปรากฏบนบัวหัวเสาและฐานชุกชีนั้น อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี หัวหน้าแผนกช่างสิบหมู่ กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรได้สรุปว่าเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา และกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๑๒๗ง. วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ เป็นโบราณสถานวัดชายนามีพื้นที่ประมาณ ๙๐ ตารางวา
เมื่อพระอาจารย์ธมฺมธโรได้เข้ามาวัดชายนาขณะนั้น วัดชายนาได้ถูกรวมไว้กับวัดท้าวโคตรเนื่องจากวัดท้าวโคตรถือเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาอย่างถูกต้อง และเรียกวัดชายนานั้นว่าวัดท้าวโคตร หรือวัดท้าวโคตรใน หรือวัดชายนาร้าง
แต่กระนั้นมีหลักฐานทางราชการปี ๒๔๗๓ ซึ่งมีการจัดทำบัญชีสำรวจที่ดินวัดร้างในแผนกสรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราช อันดับที่ ๒๓ ว่าวัดชายนา(ร้าง) ตั้งอยู่ใน ต.นา อ.เมืองนครศรีธรรมราช ไม่มีผู้เช่า ต่อมามีการแจ้งสิทธิ์ครอบครองรับเอกสาร ส.ค.๑ เลขที่ ๑๐๐ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๘ เช่นนี้ วัดชายนาจึงยังคงมีชื่อว่า วัดชายนา และวงเล็บว่า ร้าง
วัดชายนาร้างนั้นมีสภาพดังสำนักสงฆ์ มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาบ้างและบางขณะถูกปล่อยร้างสลับกันไป หลักฐานที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่อาณาบริเวณนี้เป็นที่ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา คือ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธธรรม-สมาคม สาขานครศรีธรรมราช ซึ่งพยายามจัดหาสถานที่วิเวกสำหรับพระภิกษุสามเณรเพื่อปฏิบัติธรรมขั้นสูงโดยสะดวก ได้เลือกวัดชายนาซึ่งเป็นวัดร้างเปิดเป็นสถานที่วิปัสสนาธุระในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ โดยนิมนต์พระมหาเงื่อม หรือท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เป็นผู้ทำพิธีเปิด ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาและได้ตั้งชื่อเรียกสถานที่วัดชายนานั้นว่า “สวนพุทธธรรมปันตาราม” แปลว่า สวนหรือ ป่าสงัดอันเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุพุทธธรรม
ในการเปิดสำนักวิปัสสนาดังกล่าว มีประชาชนชาวพุทธเลื่อมใสศรัทธามาก ต่างให้ความร่วมมือสร้างเสนาสนะที่จำเป็นขึ้นหลายอย่าง เช่น พุทธธรรมสมาคมได้สร้างกุฏิหลังใหม่สำหรับอาจารย์ใหญ่ หมื่นแจ้งภารกิจสร้างกุฏิ ๒ หลัง แม่ชีนาคและคณะได้สร้างกุฏิแม่ชีขึ้น ๔ หลัง สำหรับพระภิกษุสงฆ์อีก ๘ หลัง รวมเป็น ๑๕ หลัง และหมื่นแจ้งภารกิจได้สร้างบ่อน้ำขึ้น ๑ บ่อ
จากนั้นสมาคมฯ ก็ได้นิมนต์พระมหาจุนท์ จากสวนโมกข์พลารามมาจำพรรษาเป็นองค์แรกสอนตามระบบ “อาณาปานสติ” อยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วก็จาริกไปสอนที่อื่น
ต่อมาพระอาจารย์ศรีนวล จากนครพนม สอนแบบ “พุทโธ” อยู่ระยะหนึ่งแล้วจาริกไปสอนที่อื่นอีก
พระอาจารย์นุ่ม จากภาคกลาง สอนแบบ “อรหันต์” แล้วจาริกไปที่อื่น
พระอาจารย์สำคัญ จากวัดปากน้ำภาษีเจริญ จังหวัดนนทบุรี สอนแบบ “สัมมาอรหันต์” มีผู้สมัครเป็นศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก แล้วก็จากไปที่อื่น
พระอาจารย์เลื่อน จากสงขลา สอนแบบ “ยุบหนอพองหนอ” อยู่ระยะหนึ่งแล้วจากไป
ต่อมาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และพวกญี่ปุ่นยึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ในพ.ศ.๒๔๘๕ กิจการพุทธธรรมสมาคมชะงักลงระยะหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมกับสำนักวิปัสสนาฯแห่งวัดชายนาขาดตอน “สวนปันตารามของพุทธธรรมสมาคม” ถูกขนานนามใหม่ว่า “สำนักชีนารีสวรรค์” เพราะระหว่างนั้นไม่มีพระในสำนัก มีแต่แม่ชีปฏิบัติธรรมอยู่อย่างอิสระไม่ขึ้นกับใครและต่อมาสำนักชีนารีสวรรค์แห่งวัดชายนาร้างได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกว่า “วัดท้าวโคตรใน” แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงเรียกสำนักนี้ว่า วัดชายนา อยู่ตามเดิม
กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านพระอาจารย์ธมฺมธโร ได้เข้าบุกเบิกงานสอนการเจริญมหาสติปัฏฐานสี่อย่างจริงจัง ในปีแรกมีพระมาศึกษา ๗ รูปด้วยกัน ท่านสอนการปฏิบัติอยู่หนึ่งปี พอขึ้นปีทีสองเท่านั้นชื่อเสียงของท่านก็โด่งดังไปทั่วทั้งเมืองนครศรีธรรมราช มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พากันมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านมากมาย บรรดานักปราชญ์นักธรรมและแม้แต่นักกฎหมายหลายท่านต่างก็เดินทางมาพบท่านเพื่อสนทนาสอบถามปัญหาธรรมต่างๆ
ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ ท่านพระอาจารย์ธมฺมธโรได้ให้ชื่อสำนักวิปัสสนาใหม่ว่า “สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน สวนพุทธธรรม วัดชายนาร้าง” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเดิมว่า “สวนพุทธธรรมปันตาราม” และ “วัดชายนา”
ต่อมาท่านดำริกับคณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ว่าจะจัดให้มีการประชุมสัมมนา พระวิปัสสนาจารย์ขึ้นเพื่อสัมมนาการปฏิบัติระหว่างพระวิปัสสนาจารย์ และเพื่อ ไขข้อข้องใจในหลักการเผยแผ่ธรรมของท่านด้วย การจัดการประชุมสัมมนา พระวิปัสสนาจารย์นี้ได้รับประทานเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราชปุ่น ปุณสิริ หรือสมเด็จป๋า วัดโพธิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระวันรัตมาเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาพระวิปัสสนาจารย์ ครั้งที่ ๑ ปีพ.ศ.๒๕๑๒ มีพระวิปัสสนาจารย์จากที่ต่างๆ มาประชุมกันนับเป็นห้าร้อยรูป
ด้วยการยืนหยัดในการเผยแผ่ธรรมของพระอาจารย์แป้น ธมฺมธโร ได้พิสูจน์ให้ผู้ปฏิบัติตามสามารถรู้แจ้งเห็นจริงตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของพระเถระคณะสงฆ์รวมถึงพุทธศาสนิกชน ท่านมีศิษยานุศิษย์มากมายทั้งที่เป็นชาวต่างประเทศ ดังเช่น พระมหานาคเสน พระภิกษุชาวอินเดีย พระมหาโฆษนันทะ พระสังฆราชชาวเขมร (มรณภาพเมื่อปี ๒๕๕๐) ชาวตะวันตกอีกหลายรูป หลายคน และศิษยานุศิษย์ที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ต่อมาได้แก่
พระอาจารย์จำเนียร สีลเสฏโฐ ซึ่งได้เข้ามาศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์ ธมฺมธโร ณ วัดชายนาได้ประมาณ ๔ ปี ก็มีชาวบ้านยกขบวนมาขอให้ท่าน พระอาจารย์ธมฺมธโรไปสอนการปฏิบัติที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้าง เพื่อเป็นหลักทางใจแก่ญาติโยมที่นั่น ท่านก็พิจารณาให้พระอาจารย์จำเนียรไปสอนธรรมะแก่ญาติโยมที่วัดสุคนธาวาส อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และต่อมาพระอาจารย์จำเนียร ก็ได้เปิดศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐานวัดถ้ำเสือ จังหวัดกระบี่
ต่อมาท่านพระอาจารย์ธมฺมธโรก็ไปบุกเบิกสถานที่เป็นป่าเขารกร้างจนกลายเป็นที่อยู่อันสงบวิเวก ก่อตั้งเป็นสำนักวิปัสสนาวัดเขากิ่ว จังหวัดเพชรบุรี โดยมอบหมายให้ศิษย์กัมมัฏฐานผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบของท่านคือ พระอาจารย์ต่อมหรือพระครูญาณวิวัฒน์ เป็นผู้ดูแล ปัจจุบันเรียกว่าศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดไร่ดอน วงเล็บเขากิ่ว เพื่อเผยแผ่ธรรมแก่ผู้ปรารถนาความสุข ความสงบ และมุ่งหวังพระนิพพานอันเป็นที่สุดของพระพุทธศาสนาต่อไป
ในตอนนั้นปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ โยมผู้หญิงชื่อตาล ชาวเขาดิน มีความศรัทธาเลื่อมใสในการปฏิบัติของท่านพระอาจารย์ธมฺมธโรมาก ปรารถนาที่จะยกที่นาและบ้านหลังหนึ่งถวายเพื่อให้ท่านจัดเป็นวัดปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ท่านก็ได้เสด็จมารับที่ดินในตำบลดอนมะสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีจากโยมแม่ตาล ชาวเขาดินพร้อมด้วยบุตรธิดาในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๑๔ และได้มอบให้ท่านพระอาจารย์ธมฺมธโรสร้างวัดโดยสมบูรณ์แบบต่อไป
สร้างวัดไทรงามจนเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ความสงบร่มเย็นทั้งกายใจแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
ในการเปิดศูนย์ปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งแรก สมเด็จพระอริย วงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานครสมัยดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระวันรัต ทรงเป็นประธานในการเปิดสำนักสงฆ์ และทรงปลูกต้นไทร มีลักษณะงามสมบูรณ์ไว้เป็นต้นแรก และประทานนามว่า “ไทรงาม” เป็นอนุสรณ์ และพระอาจารย์ธมฺมธโรได้รับอาราธนาจาก สมเด็จพระวันรัต ให้เป็นผู้รักษาการเจ้าสำนักศูนย์ปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นต้นมา
เมื่อพระอาจารย์ธมฺมธโร ได้รับอาราธนาเป็นประธานสงฆ์ ณ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดไทรงามธรรมธราราม จังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว ในปีพ.ศ.๒๕๑๗ จึงได้แต่งตั้งพระแจ้ง จนฺทวณฺโณ หรือพระครูภาวนาจันทคุณ ผู้เป็นศิษยานุศิษย์ให้เป็นประธานสงฆ์วัดชายนา สืบทอดการสอนการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในมหาสติปัฏฐาน สี่ กระทั่งคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนปรารภที่จะยกวัดชายนา (ร้าง) ให้เป็นวัดที่มีคณะสงฆ์อยู่ปกครองและจำพรรษาที่สมบูรณ์แบบต่อไป
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๙ ทางกรมการศาสนาโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ได้ประกาศยกวัดชายนาร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ พระราชปฎิภาณโสภณ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชได้แต่งตั้งให้พระครูสมุห์แจ้ง จนฺทวณฺโณ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดชายนา
ด้วยผลงานการเผยแผ่การสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับเยาวชน ประชาชน ตลอดมา พระครูสมุห์แจ้ง จนฺทวณฺโณจึงได้รับประทานปสาทนียบัตร เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์อบรมสั่งสอนนิสิตฯ จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๔
และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการทางวิปัสสนาธุระ ของศูนย์ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรม จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก และพระธรรมธีรราชมหามุนี
ต่อมาวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔ รับพระราชทานสมณศักดิ์-พัดยศ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโทฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระครูภาวนา จันทคุณ
และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์-พัดยศ เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
จึงนับว่าพระครูภาวนาจันทคุณได้รักษาและสืบทอดการเผยแผ่ธรรมในแนวมหาสติปัฏฐาน สี่ ของพระครูภาวนานุศาสก์ได้อย่างมั่นคงและอย่างดี